Art Eye View

“ชุมชนทั่วประเทศ ขาดนักกราฟิกดีไซน์เพื่อชุมชน” เสียงสะท้อนจาก “ชนช้างกราฟิก ซีซั่น 2”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—หลังจากตระเวนไปลงพื้นที่ เก็บข้อมูล รับความรู้จากวิทยากร แล้วสร้างผลงาน เพื่อเก็บเป็นคะแนนสะสม ณ 9 ชุมชน ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ชุมชนคุณธรรมนาอุดม ต.นาอุดม อ.นิคมคําสร้อย จ.มุกดาหาร คือชุมชนที่ 10 และเป็นชุมชนสุดท้าย ที่นักศึกษาสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ จำนวน 10 ทีม จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ลงพื้นที่เพื่อทำกิจกรรม ในฐานะผู้แข่งขัน รายการ “ชนช้างกราฟิก ซีซั่น 2” ตอน กราฟิกดีไซน์เพื่อชุมชน



รายการ “ชนช้างกราฟิก ซีซั่น 2 ตอน กราฟิกดีไซน์เพื่อชุมชน จัดโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) เป็นรายการแข่งขันที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาแต่ละทีมนำงานออกแบบเรขศิลป์(Graphic Design)มาพัฒนาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ของชุมชน ออกอากาศทุกเสาร์ เวลา 15.00-16.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี จำนวน 12 ตอน ระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2559 – วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560

หลังจากนั้นคะแนนจากคณะกรรมการในการแข่งขัน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานออกแบบเรขศิลป์,คะแนนจากการ Like&Share ของผู้ชมรายการ และคะแนนจากชุมชน จะมีส่วนร่วมในการตัดสินให้ทีมใดได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัลสูงสุด 100,000 บาท พร้อมได้รับโอกาสฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ และเดินทางไปศึกษาดูงาน Design Festa Spring 2017 ณ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม 2560


“ชุมชนคุณธรรมนาอุดม เป็นชุมชนคุณธรรม มีวัดนาอุดมวนาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ไม่ว่าจะมีงานหรือมีประเพณีอะไร เขาก็จะมารวมตัวกัน ช่วยกันทำงาน ถือเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางด้านความสามัคคี ใช้ชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

แต่ปัญหาคือที่นี่เหมือนไม่มีอัตลักษณ์ของชุมชนเท่าไหร่ หรือสิ่งที่หาพบได้จากชุมชนนี้เท่านั้น ที่อื่นไม่มี มันก็เลยเป็นเรื่องยากที่เราจะหาอะไรมาเป็นข้อมูลเพื่อสื่อถึงความเป็นชุมชนผ่านงานกราฟิก

แต่สิ่งที่ทีมเราทำคือ เราออกแบบโลโก้ให้กับกลุ่มอาชีพต่างๆของชุมชน เพราะที่นี่เขาไม่มีโลโก้เลย เวลาเขาไปออกงาน OTOP หรือเอาของไปขาย คนจึงไม่ค่อยจำว่าสินค้ามาจากที่ไหน

และชาวบ้านในชุมชนได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ของเขาไม่โดนใจกลุ่มวัยรุ่น ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทีมเราก็เลยพัฒนาโดยการดึงเอาลายของเครื่องใช้เก่าๆที่เราพบในพิพิธภัณฑ์ของชุมชนที่ตั้งอยู่ภายในวัดมาทำการออกแบบโดยการตัดทอนให้ร่วมสมัยเพื่อสร้างเป็นลายให้ชาวบ้านนำไปใช้เป็นลายในการสานตะกร้าพลาสติก ลายเสื้อปักมือ และลายทอเสื่อกก

นอกจากนี้เรายังสื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชุมชน โดยการดึงเอาคาแรคเตอร์ของ พระ ผู้ใหญ่ และเด็กในชุมชน มาออกแบบเป็นตัวการ์ตูน เพื่อสื่อว่าคนในชุมชนนี้อยู่ร่วมกันโดยมีพระเป็นศูนย์กลาง”

นภัต ตันสุวรรณ และปาณิสรา มณีรัตน์ สองหนุ่มสาว ทีม AI และเป็นนักศึกษาสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกถึงแรงบันดาลใจและแนวทางในการออกแบบผลงานกราฟิกดีไซน์เพื่อชุมชนของทีมตน เมื่อการแข่งขันนำพวกเขาและเพื่อนๆทีมอื่นๆสัญจรมาสู่ “ชุมชนคุณธรรมนาอุดม”

ชุมชนที่ผู้นำชุมชนอย่าง ประชา เทือกทา ผู้ใหญ่บ้าน ให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชนโนนหนองหอ คือสิ่งที่ชาวชุมชน (บ้าน – วัด – โรงเรียน) มีความผูกพันร่วมกันเนื่องจากร่วมกันสร้าง และมีผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่น่าสนใจ ได้แก่ ตะกร้าสานจากพลาสติก,เสื่อทอจากเส้นกก,เครื่องจักรสานจากไม้ไผ่ และเสื้อเย็บมือ จากผ้าฝ้ายที่ชาวชุมชนทอขึ้น แล้วนำมาตัดและปักลายด้วยมือทุกขั้นตอน
นภัต ตันสุวรรณ และปาณิสรา มณีรัตน์  สองหนุ่มสาว ทีม AI  นักศึกษาสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ทีม AI คือทีมที่ได้รับ คะแนนชุมชน อันดับ 1 จากการให้คะแนนของชุมชนคุณธรรมนาอุดม ซึ่งก็ต้องรอลุ้นกันว่า เมื่อมีการรวมคะแนนจากการแข่งขันทั้งหมด ทีมนี้จะได้รับรางวัลใดหรือไม่จากการแข่งขันรายการ “ชนช้างกราฟิก ซีซั่น 2”

อย่างไรก็ตามทีมนี้เป็นส่วนหนึ่งของนักศึกษาออกแบบนิเทศศิลป์ทั้ง 10 ทีม ที่สะท้อนถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมแข่งขันครั้งว่า

“อยู่ในห้องเรียน เวลาอาจารย์สั่งให้ทำงาน ส่วนใหญ่เราก็จะเข้าอินเตอร์เน็ต เปิด google หรือ pinterest เพื่อหาข้อมูลมาใช้ในการทำงาน แต่พอเรามาร่วมแข่งขันในรายการ เราได้มาเจอโจทย์จริงๆ ได้ลงพื้นที่ สัมภาษณ์คนในชุมชน ได้เห็นผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และปัญหาต่างๆ ในชุมชนจริงๆ มันทำให้เราซึมซับแรงบันดาลใจได้มากกว่าการหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต”

ขณะที่ผู้ใหญ่ประชาสะท้อนว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การแข่งขันรายการนี้มีประโยชน์สำหรับชุมชนเป็นอย่างมาก แม้บางอย่างที่นักศึกษาแต่ละทีมออกแบบไว้ให้ชุมชน จะยากต่อการที่ชาวชุมชนจะนำไปใช้ด้วยตัวเอง

“การออกแบบต่างๆดีมากเลย แต่การเอาไปใช้ประโยชน์จริง บางอันมันยากสำหรับชาวบ้าน ต้องอาศัยเรื่องของอุปกรณ์และเทคนิคต่างๆ แต่ก็มีหลายอันมากที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

สอดคล้องกับสิ่งที่ ไพโรจน์ ธีระประภา หรือ โรจน์ สยามรวย ศิลปินศิลปาธร ปี 2557 สาขาออกแบบเรขศิลป์ หนึ่งในคณะกรรมการผู้ให้คะแนนและตัดสินการแข่งขัน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของ งานกราฟิกดีไซน์เพื่อชุมชนว่า

“ต้องเป็นสิ่งที่ชุมชนนั้นๆสามารถมีส่วนร่วมและไม่เป็นภาระกับเขามาก ไม่ใช่ว่าออกแบบสวยงามมาก แต่ว่าต้นทุนสูง ต้องไม่ลืมว่าชาวบ้านเขาไม่ได้มีเงินทุนขนาดนั้น อยากให้เลือกใช้เทคนิคพื้นๆง่ายๆ ใช้วัสดุในท้องถิ่น ที่ชาวบ้านเขาทำเองได้ ผมและเพื่อนๆ นักออกแบบหลายท่าน ซึ่งที่ผ่านมาเราทำงานออกแบบเพื่อชุมชนกันอยู่แล้ว บางครั้งเราพยายามใช้งานที่เป็นการถ่ายเอกสาร หรือ ใช้ตรายาง เป็นต้น
 
เป็นงานกราฟิกง่ายๆที่แปะไปตามสินค้าต่างๆของชุมชนที่สะท้อนถึงความเป็นหมู่บ้านนี้อีกหมู่บ้านหนึ่งหรืออีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งแยกแยะได้ว่าเป็นของใคร แต่มันเกิดจากงานกราฟิกชิ้นเล็กๆที่ต้นทุนไม่แพง”
ไพโรจน์ ธีระประภา หรือ โรจน์ สยามรวย  ศิลปินศิลปาธร ปี 2557 สาขาออกแบบเรขศิลป์
นอกจากนี้จากการลงพื้นที่ 10 ชุมชนทั่วประเทศ ได้รับทราบข้อมูลและปัญหาร่วมกับนักศึกษาทั้ง 10 ทีม  ศิลปินศิลปาธรท่านนี้ ยังสะท้อนด้วยว่า

ขณะนี้ชุมชนต่างๆของบ้านเรามีความต้องการนักกราฟิกดีไซน์เพื่อชุมชน ที่จะช่วยพัฒนาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นอย่างมาก

“ทุกที่ขาดหมดจริงๆครับ เพราะแค่ป้ายราคา สติกเกอร์ นามบัตร ที่จะบอกว่าเราเป็นใครก็ต้องดีไซน์ครับ ไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้ เราต้องฆ่าอะไรก็ได้ทิ้งไปเลย งานออกแบบกราฟิก มันจะต้องถูกสร้างด้วยนักออกแบบกราฟิก มันถึงจะมีประสิทธิภาพ

สถาบันการศึกษาแทบทุกที่ตอนนี้ มีสาขาออกแบบนิเทศศิลป์และมีนักศึกษาเรียนกันเยอะมาก พวกเขาคือคนเฉพาะทางที่ถูกผลิตมาเพื่อเป็นนักออกแบบ แต่ตอนนี้เราไม่ค่อยได้ใช้นักออกแบบเท่าไหร่ พอไม่มีคนรู้จัก เวลาใช้งานนักออกแบบ ก็เลยมีคนงงอยู่ว่า ควรจะให้ค่าออกแบบเท่าไหร่ พอคนไม่เห็นความสำคัญว่างานออกแบบมีคุณค่าสามารถสร้างเงินได้เยอะขนาดไหน เขาก็ไม่เห็นคุณค่าว่างานออกแบบมันมีคุณค่าขนาดนั้น ค่าออกแบบก็ลดลง อีรุงตุงนังไปหมด เราต้องค่อยๆเพิ่มความเข้าใจไปทีละเรื่อง ปัญหาทับซ้อน ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทำ”

ติดตามการลงพื้นที่เพื่อทำงานกราฟิกดีไซน์เพื่อ ชุมชนคุณธรรมนาอุดม ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ของนักศึกษาสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ จำนวน 10 ทีม จาก 10 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะออกอากาศทางรายการ “ชนช้างกราฟิก ซีซั่น 2” ตอน กราฟิกดีไซน์เพื่อชุมชน ในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 15.00-16.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี
 

นักศึกษาสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ 10 ทีม จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่ร่วมแข่งขัน รายการ “ชนช้างกราฟิก ซีซั่น 2” ตอน กราฟิกดีไซน์เพื่อชุมชน

1.ทีม “กิ่ง ก้าน ใบ” วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
2.ทีม “ปกร” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ทีม “ไก่ทอด 2017” มหาวิทยาลัยศิลปากร
4.ทีม “AI” มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
5.ทีม “กระติก” มหาวิทยาลัยนเรศวร
6.ทีม “สล่ากราฟิก” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
7.ทีม “ลองแล” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
8.ทีม “Check In” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
9.ทีม “Pak Silk” มหาวิทยาลัยขอนแก่น
10.ทีม ”ตุ้มโฮม” มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ภาพโดย :สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.),ชนช้างกราฟิก ซีซั่น 2 และ ART EYE VIEW










ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It